top of page
Writer's pictureSathaworn

ย้อนดูความท้าทายของคนการบินในยุคโควิด-19

Updated: Jun 1, 2023

ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินดูจะเป็นหนึ่งในอาชีพที่คนรุ่นใหม่ต่างใฝ่ฝัน จะด้วยภาพลักษณ์ที่สวยหรู รายได้ที่งดงามมั่นคง ซึ่งมาพร้อมกับอิสระในการเดินทางท่องโลกกว้าง


แต่ในวันที่วิกฤตการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ Covid-19 ก่อตัวและแผ่ขยายสู่ทั่วทุกมุมโลกจนส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ กลับปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นแอร์โฮสเตส หรือสจ๊วต ก็ไม่ได้ราบรื่นมั่นคงเสมอไป อันเนื่องมาจากมาตรการในระดับสากลที่รัฐบาลทั่วโลกพร้อมใจตั้งรับด้วยการปิดประเทศ ปิดน่านฟ้า ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2563 นำไปสู่ข้อจำกัดในการเดินทางของผู้โดยสาร


เพราะฉะนั้นธุรกิจสายการบินย่อมได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยเครื่องบินพาณิชย์ 2 ใน 3 ของทั่วโลก ต้องยุติการบินอย่างไม่มีกำหนด สร้างความเสียหายครอบคลุมต่อธุรกิจการบินถึงร้อยละ 98 จนสายการบินที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจฝ่าวิกฤตดังกล่าวได้ก็จำเป็นต้องประกาศตัวล้มละลาย โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ประเมินสถานการณ์ว่าหากมาตรการการจำกัดการเดินทางทั่วโลกยังดำเนินต่อไปอีก 3 เดือนข้างหน้า ยอดจำหน่ายตั๋วเดินทางอาจลดลงถึงร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผลกระทบที่ตามมาย่อมส่งต่อถึงพนักงานของสายการบินจำนวนถึง 2.7 ล้านคนทั่วโลก


การประกาศหยุดทำการบินชั่วคราวส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพนักงานทุกคนโดยตรง รวมถึงพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เนื่องจากขาดรายได้ และไม่ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง (per diem) ซึ่งเป็นรายได้หลักของสายอาชีพ บางสายการบินนั้นพนักงานยังถูกลดทอนเงินเดือนถึงร้อยละ 30 เพื่อประคองสถานการณ์ทางการเงินของบริษัท





จากผลสำรวจ แนวทางการรับมือกับการยอมรับต่อเงื่อนไขการทำงานในรูปแบบใหม่ พร้อมการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ที่มีประสบการณ์ทำงานมาเป็นระยะเวลา 15-20 ปี จำนวน 10 คน โดยวิธีการสัมภาษณ์กลุ่ม พบว่าสภาพจิตใจโดยรวมของพนักงานเหล่านี้ต่างได้รับผลกระทบซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจและแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม โดยจำแนกออกมาได้ 7 ลักษณะ ได้แก่

  1. สับสนจากการไม่ยอมรับความจริง

  2. เครียด

  3. กังวล

  4. หดหู่ซึมเศร้า

  5. โหยหา

  6. โกรธ

  7. สงบจากการยอมรับความจริง

ซึ่งแน่นอนว่าการยอมรับความจริงของพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่มาไม่ต่ำกว่า 15 ปี เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ด้วยความไม่แน่นอนในอาชีพการงาน และความกังวลต่อสภาพทางธุรกิจของบริษัทที่ไม่แน่นอน ความกังวลใจเกิดขึ้น นำไปสู่ความเครียดสะสม โดยเฉพาะพนักงานที่มีภาระค่าใช้จ่าย และหนี้สินรายเดือน ในจำนวนนี้มีพนักงานที่มีความฝังใจกับอดีตด้านการงานที่เคยสดใส อิสระในการเดินทางและรายได้ที่จัดอยู่ในระดับสูง


ขณะที่ร้อยละ 40 รู้สึกโกรธและเคียดแค้นต่อประเด็นที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสภาพจิตใจแต่อย่างใด ในทางกลับกัน การยอมรับต่อสภาพความเป็นจริง คือหนทางที่จะทำให้พวกเขาระงับความรู้สึกเหล่านั้น และสามารถรับมือกับเงื่อนไขการทำงานครั้งใหม่ภายใต้อุปสรรคและปัญหาที่ต้องแก้ไขกันต่อไป


แนวทางการปรับตัว

กลุ่มตัวอย่างได้เสนอแนวทางการปรับตัวสำหรับนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันในขณะที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบินตามวิถีชีวิตปกติ สามารถสรุปได้ 4 แนวทางได้แก่

  1. กิจกรรมบำบัด เช่น การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ พูดคุยทางโทรศัพท์เพื่อระบายความอัดอั้น หรือแม้กระทั่งการนอนหลับ

  2. กิจกรรมทำความสะอาดและการจัดบ้าน ซึ่งร้อยละ 90 ต่างเห็นตรงกันว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถรวบรวมสติให้หลุดพ้นจากความกังวลใจและกลับมามีสมาธิกับกิจกรรมที่อยู่ตรงหน้า ช่วยให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว

  3. การพัฒนากิจวัตรประจำวัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่เคยทำก่อนวิกฤตการระบาดของ Covid-19 เช่น การนอนเร็วตื่นเช้า การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การตั้งเป้าหมายการออกกำลังกาย การวางแผนการเงิน รวมถึงการทำสมาธิเพื่อสร้างความสงบและความมีสติ

  4. การเสริมทักษะใหม่ให้กับตนเองผ่านแหล่งข้อมูลออนไลน์ เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพเสริมในอนาคต เพื่อสร้างรายได้ควบคู่กับงานประจำที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง เช่นการหัดทำอาหารคาว-หวาน การหัดใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ การหัดใช้เทคโนโลยีจากแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มสาธารณะเพื่อการทำธุรกิจออนไลน์ การหัดเขียน Blog สู่การเป็น Blogger มืออาชีพ การเรียนภาษาต่างประเทศ

ซึ่งกลุ่มตัวอย่างทุกคนต่างเห็นตรงกันว่าทุกกิจกรรมที่กล่าวมาจะสนับสนุนให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองอย่างมีเป้าหมาย และช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ ในการทำสิ่งที่แตกต่างจากเดิม


โดยร้อยละ 80 ของกลุ่มตัวอย่างได้นำความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่ผ่านการฝึกฝนมาปรับใช้กับชีวิตในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจและทำให้มีความมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่การมีอาชีพเสริม และสร้างรายได้พิเศษในอนาคต




อ้างอิง

Laovoravit, V., Pongpirul, K., Chinswang, I., Janlampoo, P., & Imsombut, A. (2021, June). Covid-19 On Job Insecurity and Mental Health of Thai Airways International Flight Attendants. In Presented at the 2nd Innovation Aviation & Aerospace Industry-International Conference (Vol. 28, p. 30).

1 view0 comments

Commenti


bottom of page