หลายคนคงมีประสบการณ์ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หรือมีเหตุให้ไม่สามารถที่จะใช้รถยนต์ที่ใช้เป็นประจำได้ บางคนก็หลายสัปดาห์ บางคนก็หลายวัน ซึ่งการจอดรถไว้เฉยๆโดยไม่มีการเตรียมการก็เสี่ยงที่จะทำให้รถยนต์ของเราเสียหาย หรือไม่สามารถใช้งานได้ หลายคนก็เลือกที่จะถอดปลั๊กแบตเตอรี่บ้าง คลุมรถบ้าง จอดในโรงจอด หรือที่ร่มบ้าง เป็นต้น เพื่อป้องกันความเสียหายของรถของเราให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญคือเมื่อเรากลับมา รถต้องสตาร์ทติดนั่งเอง ซึ่งเครื่องบินก็เหมือนกับรถยนต์ การจอดเครื่องทิ้งไว้นานๆก็ต้องมีขั้นตอนกระบวนการดูแลรักษาเช่นเดียวกัน
แต่ละสายการบินก็จะมีเครื่องบินจำนวนหนึ่งที่ต้องถูกจอดไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำการบินด้วยสาเหตุต่างๆ และบางลำก็อาจจะต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ๆ ก่อนที่จะกลับมาทำการบินได้ อย่างไรก็ตามมีกระบวนการในการบำรุงรักษาเครื่องบินสำหรับการจัดเก็บระยะยาว โดยมีรายละเอียดคร่าวๆดังนี้
กระบวนการเตรียมเครื่องบินสำหรับการจัดเก็บระยะยาว
สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ สภาพอากาศ การสัมผัสกับอุณหภูมิที่เย็นจัด หรือร้อนจัด อย่างต่อเนื่องสามารถทำลายส่วนที่ทำจากยางของเครื่องบินได้ นอกจากนี้ความชื้นในอากาศอาจทำให้เกิดการกัดกร่อนในส่วนต่างๆของเครื่องยนต์ และเครื่องบิน นี่คือเหตุผลที่เครื่องบินจำนวนมากถูกส่งไปเก็บยังโรงเก็บ หรือหลุมจอดในสภาพอากาศแห้งมีฝนตกน้อย
ในบางกรณี เครื่องยนต์จะถูกถอดไปเก็บ และแบตเตอรี่จะถูกถอดออกเช่นกัน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา แต่ก็มีข้อจำกัดที่ต้องเสียเวลามากขึ้นในการทำให้เครื่องบินจะสามารถนำกลับมาใช้บริการได้อีก ซึ่งมักจะใช้เวลาประมาณ 120 ชั่วโมง ในการปรับสภาพเครื่องให้เหมาะสำหรับการบินอีกครั้ง
การปกป้องเครื่องยนต์
หนึ่งในอันตรายที่สำคัญของการเก็บรักษาเครื่องบิน คือ การเกิดสนิมในเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ของเครื่องบินนั้นถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า จะต้องมีการใช้งานเป็นประจำ การจอดนิ่งๆ ทุกครั้ง เครื่องยนต์ต้องได้รับการบำรุงรักษาที่เหมาะสม เครื่องยนต์ที่ไม่ถูกใช้งานมานาน มักจะเกิดสนิมเนื่องจากความชื้นของอากาศนั่นเอง
นอกจากนี้ช่องเปิดใด ๆ ในส่วนของลำตัวเครื่องบิน (Fuselage) จะถูกปิดด้วยเทปพิเศษ เพื่อป้องกันแมลง หรือสัตว์ขนาดเล็ก ที่จะเข้ามาทำรัง สำหรับส่วนอื่นๆ ของเครื่องบินนั้น จะมีการตรวจการสึกหรอหรือการกัดกร่อนทุกสัปดาห์ มีการตรวจระบบไฟฟ้าทุกสองสัปดาห์ ประมาณเดือนละครั้งเครื่องบินจะถูกเคลื่อนย้ายเพื่อป้องกันสภาพของยางที่อาจจะบิดเบี้ยวเนื่องจากรับน้ำหนักที่จุดเดียว พรมและที่นั่งจะถูกตรวจสอบเพื่อตรวจสอบเรื่องเชื้อรา รวมถึงจะมีการตรวจสอบเชื้อเพลิง และระบายออกหากจำเป็น เพื่อป้องกันการสะสมของน้ำในระบบ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราได้ และทุก ๆ สามเดือน หางเสือ (Rudder) และกลไกการควบคุมอื่นๆ จะถูกใช้งาน
ในวันที่อากาศร้อนจัด จะมีการเปิดประตูเครื่องบินเพื่อระบายความร้อนของห้องโดยสาร เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากความร้อนอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นที่เก็บเครื่องบินระยะยาวหรือระยะสั้น ก็ต้องมีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าสินทรัพย์ของสายการบินจะอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด และสามารถนำกลับมาให้บริการได้อย่างรวดเร็ว
댓글