top of page
Writer's pictureSathaworn

ประวัติศาสตร์การบินของไทย

หัวข้อ



ประวัติศาสตร์การบินของไทยช่วง ก่อน สงครามโลกครั้งที่ 1


2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 >>> เครื่องบินลำแรกที่บินเข้ามาในราชอาณาจักร

นักบินชาวเบลเยี่ยม นาย วันเด็นบอร์น (Van den Born) ได้นำเครื่องบินแบบ ออร์วิลล์ ไรท์ (Orwille Wright) มาสาธิตการบินถวายให้รพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทอดพระเนตร และให้ประชาชนชม ที่สนามม้าสระปทุม (ปัจจุบันเป็นราชกรีฑาสโมสร ปทุมวัน)


เทพชู บรรยายลักษณะเครื่องบินว่า รูปร่างต่างจากเครื่องบินสมัยนี้ คือมีปีก 2 ชั้น ลำตัวมีแต่โครงโปร่งๆ ไม่มีแพนหางเสื้อเลี้ยว มีเครื่องยนต์ติดตั้งอยู่ตรงกลางลำตัวใกล้ชายปีกชั้นล่าง เครื่องยนต์ขนาด 50 แรงม้า ซึ่งให้แรงดันขับตัวเครื่องบินพุ่งไปข้างหน้าในอัตราความเร็วชั่วโมงละ 50 กิโลเมตร มีฐานกางมีล้อคล้ายล้อรถจักรยานข้างละ 2 ล้อ ตอนหัวประกอบด้วยไม้ยาว 4 อันยื่นออกไปบรรจบกันกับแพนเล็กๆ อันหนึ่งซึ่งขยับขึ้นลงได้ และที่นั่งคนขับอยู่บนปีกชั้นล่างหน้าเครื่องยนต์


เครื่องบินแบบ ออร์วิลล์ ไรท์ (Orwille Wright) ภาพจาก https://www.saranukromthai.or.th

คนไทยคนแรกที่ขึ้นเครื่องบิน

เทพชู ทับทอง ผู้เขียนหนังสือ “กรุงเทพฯ ในอดีต” บรรยายว่า


“หลังจากที่เครื่องบิน บินอยู่สักพักก็ลงสนาม นักบินชาวฝรั่งเศสได้เชิญให้ทหารไทยขึ้นโดยสารทดลองดูปรากฏว่าทหารไทยที่กล้าขึ้นเป็นคนแรกได้แก่
นายพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ผู้บังคับกองพันพิเศษ กองพลที่ ๕ หรือพลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป)”

เหตุการณ์ “เครื่องบินเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งแรก” ยังปรากฏในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ในหนังสือชื่อ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. 2466 โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า ราม วชิราวุธ พระราชนิพนธ์ทรงบรรยายว่า


“เครื่องที่นำเข้ามาครั้งนั้นเปนเครื่องปีก 2 ชั้น ไม่มีที่คนโดยสารขึ้น, ฉนั้นถ้าใครอยากจะโดยสารก็ต้องยืนเกาะไปข้างหลังคนขับ, ออกจะน่าเสียวใส้อยู่บ้าง ได้มีคนไทยลองขึ้นกันหลายคน เจ้านายมี กรมอดิศร กรมกำแพงเพ็ชร์ และกรมสรรควิสัยนรบดี พวกเหล่านี้กล่าวว่าไม่น่ากลัวกว่าขึ้นรถยนตร์ แต่ในเวลานั้นออกจะมีคนเห็นด้วยน้อยทีเดียว”

28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 >>> ส่งคนไทยไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส พลเอกสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ได้ดำริจัดตั้งหน่วยบินขึ้น เพื่อป้องกันประเทศไทยตามความจำเป็น ดังนั้นพระองค์จึงทรงเลือก นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) นายร้อยเอก หลวงอาวุธลิขิกร (หลง สิน-ศุข) และนายร้อยโททิพย์ เกตุทัต ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศสจนสำเร็จ


หมายเหตุ

  1. พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ (นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ) (สุณี สุวรรณประทีป)

  2. นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ (นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร) (หลง สิน-ศุข)

  3. นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต (นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต)


หลังจากศึกษาจบ รัชกาลที่ 6 ทรงให้จัดซื้อเครื่องบินบรรทุกเรือกลับมายังประเทศไทย จำนวน 8 ลำ เป็นเครื่องบินที่ทางราชการซื้อจำนวน 7 ลำ เครื่องบินเบรเกต์ (ฺBreguet) ปีกสองชั้น 3 ลำ เครื่องบินนิเออปอร์ต (Nieuport) ปีกชั้นเดียว 4 ลำ และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) จัดซื้อเบรเกต์ให้ทางราชาการ 1 ลำ พร้อมทั้งนายทหารไทยทั้งสามนาย ซึ่งเป็น “มนุษย์อากาศไทยชุดแรก” จึงจัดเข้าประจำการเป็นหน่วยบินแรกของกองทัพไทย


เครื่องบินเบรเกต์ (ฺBreguet) ภาพจาก http://www.rmutphysics.com/

27 มีนาคม พ.ศ. 2457 >>> สนามบินดอนเมืองเปิดดำเนินการครั้งแรก

เนื่องจากสนามบินสระปทุมคับแคบ มีที่ตั้งไม่เหมาะสม และเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมในฤดูฝน พระยาเฉลิมอากาศจึงเสาะแสวงหาพื้นที่อื่นรอบๆ พระนคร ในที่สุดได้สร้างสนามบินดอนเมือง เนื่องจากไม่ไกล และตามปกติน้ำไม่ท่วม ใช้ทำการบินได้สะดวกตลอดปี พร้อมทั้งได้ก่อสร้างอาคาร สถานที่โรงเก็บเครื่องบินอย่างถาวรขึ้น เมื่อการโยกย้ายกำลังพล อุปกรณ์ และเครื่องบินไปไว้ยังที่ตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2457 กระทรวงกลาโหมจึงได้สั่งยกแผนกการบินขึ้นเป็น “กองบินทหารบก” ตั้งแต่บัดนั้นมา กองทัพอากาศจึงถือเอา วันที่ 27 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันที่ระลึกกองทัพอากาศ”


ประวัติศาสตร์การบินของไทยช่วง สงครามโลกครั้งที่ 1

*สงครามโลกครั้งที่ 1: 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 ถึง 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461


พ.ศ. 2461 >>> ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2461 ไทยส่งทหารอาสาเข้าร่วมการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 จำนวน 300 นาย ทหารอาสาได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการขับเครื่องบิน และการสร้างเครื่องบินจากฝรั่งเศส เมื่อสิ้นสงครามโลก ไทยมีนักบินที่มีคุณภาพกว่า 100 คน ประชาชนจึงร่วมกันบริจาคเงินซื้อเครื่องบินให้กับทางราชการ (กระทรวงกลาโหม) โดยตั้งชื่อเครื่องบินตามชื่อจังหวัดต่างๆ รวมถึง 31 ลำ


พ.ศ. 2462 >>> ไปรษณีย์อากาศ หลังสงคราม ได้มีการทดลองทำการบินรับส่งไปรษณีย์ ระหว่างกรุงเทพฯ กับจันทบุรี ในปี พ.ศ. 2462 ทำการบินด้วยเครื่องบินเบรเกต์ (Breguet XIV) ซึ่งดัดแปลงมาจากเครื่องบินทหาร ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การบินก่อนหน้าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ต่อมามีการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางนี้ด้วย


23 มิถุนายน พ.ศ. 2463 >>> ขยายเส้นทางขนส่งไปรษณีย์อากาศ กรมอากาศยานทหารบกได้เปิดการบินรับส่งไปรษณีย์ระหว่างนครราชสีมา กับอุบลราชาธานี และเพิ่มเส้นทางบินไปยังยังอุดรธานี และหนองคาย รวมถึงเส้นทางบินพิษณุโลก และเพชรบูรณ์ แม้จะมีการขนส่งผู้โดยสารบ้าง แต่บริการหลักยังคงเป็นไปรษณีย์ และเน้นการขนส่งไปยังจังหวัดที่ยังไม่มีรถไฟเชื่อมถึง


พ.ศ. 2467 >>> สายการบินพาณิชย์นานาชาติลำแรกที่เข้ามาประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2467 สายการบิน KLM (Royal Dutch Airlines) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้นำเครื่องบิน Fokker มาแวะลงที่สนามบินดอนเมือง


พ.ศ. 2468 >>> จัดตั้งกองบินพลเรือน ประเทศไทยได้จัดตั้งกองบินพลเรือน กรมบัญชาการกระทรวงพาณิชย์ และคมนาคม ในปี พ.ศ. 2468


23 มิถุนายน พ.ศ. 2470 >>> บริพัตร วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2470 นาวาอากาศโท หลวงเวชยันตร์รังสฤษฎ์ ได้ออกแบบสร้างเครื่องบินใหม่สำเร็จ และได้ทดลองบินในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ได้รับพระราชทานนามว่าเครื่องบินแบบ “บริพัตร” เครื่องบินปีกสองชั้นของไทยลำแรก ซึ่งผลิตออกมาจากโรงงานที่ดอนเมือง ได้บินขึ้นสู่อากาศใช้ราชการได้ดี ด้วยวัตถุพื้นเมืองและฝีมือช่างไทย (ยกเว้นเครื่องยนต์ ซึ่งต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ)


เครื่องบินบริพัตร ภาพจาก https://wikimedia.org

พ.ศ. 2475 >>> นางสาวสยาม เครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้พระราชทานทุนให้ นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ไปศึกษาวิชาการบินและวิศกรรมช่างกลที่สหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2475 น.อ.เลื่อน พงษ์โสภณ ได้ขอซื้อเครื่องบินจากบริษัท Travel Air ในแบบเครื่องยนต์ Curtiss OX-5 90 แรงม้า ในราคา 6,000 บาท และบินกลับมายังประเทศไทย โดยให้ชื่อเครื่องบินว่า “นางสาวสยาม” (Miss Siam) นับเป็นเครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย


“นางสาวสยาม” (Miss Siam) ภาพจาก https://mgronline.com



ประวัติศาสตร์การบินของไทยช่วงหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2

*สงครามโลกครั้งที่ 2: กันยายน พ.ศ. 2482 - กันยายน พ.ศ. 2488


5 เมษายน พ.ศ. 2488 >>> บริษัท เดินอากาศ จำกัด งดทำการบิน เนื่องจากเครื่องบินของบริษัท เดินอากาศ จำกัด ถูกยิงตกในระหว่างสงคราม จึงไม่สามารถทำการบินในเส้นทางที่ให้บริการได้อีก (เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน-แม่สะเรียง) จึงต้องเลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2499


พ.ศ. 2489 >>> กองทัพอากาศ เริ่มเปิดการบินขึ้นใหม่ เมื่อสงครามโลกยุติ กองทัพอากาศได้กลับมาเริ่มทำการบินอีกครั้ง โดยเปิดเส้นทางจากดอนเมือง-พิษณุโลก-ลำปาง-เชียงใหม่ และ ดอนเมือง-ภูเก็ต-สงขลา โดยใช้เครื่องบิน DC-3 หรือ ดาโกต้า ทำการบริการ


พ.ศ. 2490 >>> บริษัท เดินอากาศ จำกัด ทางราชการได้เปิดบริษัท เดินอากาศ จำกัด ขึ้นมาอีกครั้ง อยู่ในการควบคุมของกองขนส่งทางอากาศ กรมการขนส่ง (กรมการบินพาณิชย์ในปัจจุบัน) ทำการบินไปยังเมืองและประเทศใกล้เคียง เช่น กัลกัตตา ย่างกุ้ง เวียงจันทร์ พนมเปญ ปีนัง โตเกียว สิงค์โปร์ ฮ่องกง และไทเป เป็นต้น


พ.ศ. 2490 – 2491 >>> บริษัทการบินต่างชาติในไทย บริษัท Pacific Overseas Airlines (Siam) จำกัด ชื่อย่อ POAS และ บริษัท Trans-Asiatic Airlines (Siam) จำกัด ชื่อย่อ TAAS ซึ่งดำเนินการเส้นทางบินระหว่างประเทศเท่านั้น


1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 >>> บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด บริษัท เดินอากาศ จำกัด และบริษัท POAS ได้รวมกิจการเข้าด้วยกัน จัดตั้งเป็นบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด


เครื่องบินของ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ภาพจาก https://www.saranukromthai.or.th

พ.ศ. 2499 >>> เปลี่ยนชื่อสนามบินดอนเมือง ท่าอากาศยานดอนเมืองได้เข้ามาอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ ในปี พ.ศ. 2491 และในปี พ.ศ. 2499 ได้เปลี่ยนชื่อท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นท่าอกาศยานกรุงเทพ สังกัดกองทัพอากาศ


พ.ศ. 2502 >>> บริษัท การบินไทย จำกัด ในปี พ.ศ. 2502 บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด และ บริษํท Scandinavian Airlines (SAS) ได้ร่วมหุ้นกันจัดตั้ง บริษัท การบินไทย จำกัด ขึ้น

เครื่องบินของ การบินไทย ภาพจาก https://www.khaosod.co.th/

1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 >>> การบินไทยบินระหว่างประเทศ บริษัท การบินไทย จำกัด ได้เปิดทำการบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 และต่อมารัฐาบาลได้ซื้อหุ้นทั้งหมดจาก SAS ทำให้บริษัท การบินไทย จำกัด เป็นของรัฐบาลไทย


1 เมษายน พ.ศ. 2531 >>> บริษัท การบินไทย จำกัด บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ได้รวมกิจการกับบริษัท การบินไทย จำกัด โดยใช้ชื่อ บริษัท การบินไทย จำกัด ให้บริการขนส่งทางอากาศทั้งในและต่างประเทศ


9 เมษายน พ.ศ. 2480 >>> วันกองทัพอากาศ กรมทหารอากาศได้ยกฐานะเป็น “กองทัพอากาศ” มีนาวาอากาศเอก พระเวชยันต์รังสฤษฎ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรกกองทัพอากาศ จึงได้ถือเอาวันที่ 9 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันกองทัพอากาศ”


บุคคลสำคัญด้านการบินของไทย

  1. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

  2. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบินในเมืองไทย

  3. บุพการีของกองทัพอากาศ

  • พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ (นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ) (สุณี สุวรรณประทีป)

  • นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ (นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร) (หลง สิน-ศุข)

  • นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต (นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต)

วันสำคัญด้านการบินของไทย

  • 13 มกราคม วันการบินแห่งชาติ

  • 27 มีนาคม วันที่ระลึกกองทัพอากาศ

  • 9 เมษายน วันกองทัพอากาศ

  • 7 ธันวาคม วันการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Day)




อ้างอิง

5 views0 comments

Comments


bottom of page