วันนี้ได้มีโอกาสเข้าฟังบรรยายเรื่อง การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ในเนื้อหารายละเอียดนั้นมีการพูดถึงรูปแบบการเรียนการสอนสมัยใหม่ มีการแนะนำเทคโนโลยีใหม่ๆที่สามารถนำมาใช้ในห้องเรียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น และเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น ซึ่งเครื่องมือต่างๆก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก ทั้งนี้ต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้กับบริษัท Google ที่ทำให้การศึกษาในปัจจุบันนั้นก้าวหน้า และทั่วถึงมากขึ้นด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Google for Education
แต่ประเด็นของบทความนี้คือในยุคการศึกษาที่นักเรียนเลือกที่จะถาม Google มากกว่าจะถามครู ในยุคที่นักเรียนเลือกที่จะเชื่อสิ่งที่ตนพบบนโลกออนไลน์มากกว่าคำพูดของครู จะส่งผลต่อบทบาทคนเป็นครูอย่างไร แล้วครูต้องปรับตัวอย่างไร… คำตอบนั้นก็ไม่ได้เดาอยากแต่อย่างใด นั่นคือครูต้องเรียนรู้ และก้าวทันความเปลี่ยนแปลง และต้องเปลี่ยนบทบาทการเป็นผู้สอนแบบเก่า นั่นคือครูเป็นผู้ส่งข้อมูลฝ่ายเดียว ส่วนนักเรียนเป็นผู้รับ ซึ่งจะรับได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักเรียนเองการสอนแบบนี้ (เขาว่า) กำลังจะหายไป ครูจะมีบทบาทมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยหรือผู้คอยอำนวยการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ (Facilitator) นั่นคือ ไม่ต้องบรรยาย ไม่ต้องสอน แต่คอยอำนวยการเรียนการสอนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของวิชานั้นๆ โดยใช้เทคโนโลยี และข้อมูลที่มีอยู่มากมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การจัดหาข้อมูลใน YouTube แล้วทำการมอบหมายให้นักเรียนไปดูจากที่บ้าน เพื่อมาทำการวิเคราะห์ และอภิปรายกันในห้องเรียน (Flipped Classroom – เรียนที่บ้าน ทำการบ้านที่โรงเรียน)
ด้วยเทคโนโลยีต่างๆที่มีในปัจจุบันนั้น แน่นอนว่าย่อมสามารถทำให้การเรียนการสอนเป็นแบบดิจิตัล คือสามารถเรียนได้ทุกที่ ทั่วถึง ทันสมัย เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และ (เขาว่า) มีประสิทธิภาพมากกว่าการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ซึ่งตัวผู้เขียนก็เห็นด้วยเกือบทุกประการ มีแค่บางประเด็นที่รู้สึกเห็นต่างอยู่บ้าง“ครู” ในความเข้าใจของผู้เขียน คือ อาชีพที่รายได้น้อยแต่ความรับผิดชอบใหญ่หลวง
ครูเป็นอาชีพที่สร้างคนให้เป็นคน สร้างคนดีให้กับสังคมและประเทศชาติ เป็นอาชีพที่ผิดพลาดไม่ได้ เพราะผลลัพธ์ที่สร้างไม่ใช่สินค้า หรือบริการ แต่เป็นชีวิตคน เป็นอนาคตของชาติ ดังนั้นครูต้องทำหน้าที่ของตน ๑๑๐% ต้องเต็มที่ และรับผิดชอบสูงมาก (สวนทางกับรายได้ที่ได้รับโดยสิ้นเชิง)ผู้เขียนมีความเชื่อว่าการที่จะทำให้คนเป็นคนมีความรู้นั้นยาก แต่การที่จะทำให้คนเป็นคนมีความรู้ และเป็นคนดีด้วยนั้นยากกว่าการสอนด้วยเทคโนโลยีนั้นดี แต่ก็ขาดความเป็นมนุษย์ ขาดสิ่งที่เรียกว่า Human Touch นั่นคือความเห็นอกเห็นใจ ห่วงใย และความรัก
ถึงแม้ว่าการใช้เทคโนโลยีจะมีข้อดีอยู่มากมายเหนือการสอนจากครู แต่ก็เฉพาะในด้านกายภาพที่สามารถสัมผัส จับต้องได้ ส่วนทางด้านจิดใจ ด้านความรู้สึก ด้านความผูกพันนั้น ครูมีมากกว่าอย่างแน่นอน เพราะคงไม่มีเทคโนโลยีไหนสามารถปลอบใจนักเรียนที่อกหัก นั่งฟังเรื่องราวนักเรียนเรื่องปัญหาที่บ้าน คงไม่มีเทคโนโลยีไหนที่สามารถให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา ตบบ่า กอดคอ เลี้ยงข้าว หรือลงโทษให้คัดร้อยจบได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องการมนุษย์เป็นผู้ปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกัน และผู้เขียนก็มีความเชื่อว่าคนเราจะเป็นคนดีได้นั้น นอกจากคิดดีแล้ว ยังต้องได้เห็น ได้รับการสอน และเรียนรู้จากตัวอย่างที่ดีอีกด้วย
ดังนั้นครูยุคใหม่คงจะต้องเป็นครูที่ต้องบูรณาการความเป็นมนุษย์กับเทคโนโลยีให้ลงตัว ใช้เทคโนโลยีเติมเต็มในส่วนที่มนุษย์ทำไม่ได้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ และทักษะให้กับนักเรียน พร้อมกับใช้ความเป็นมนุษย์เสริมสร้างด้านจิตใจ เพื่อให้เป็นคนที่มีความรู้ และเป็นคนดีในคนๆเดียวกัน ผู้ที่เป็นครูอาจารย์ต้องโยนข้ออ้างต่างๆทิ้งไป ต้องจัดลำดับความสำคัญดีๆ เพราะหน้าที่หลักคือมุ่งมั่นพัฒนาอนาคตของชาติให้เป็นคนที่มีประสิทธิภาพ เป็นคนดี เป็นคนที่รู้จักผิดชอบชั่วดี เป็นคนดีของสังคม เป็นคนที่พร้อมจะสร้าง และส่งต่อความดีต่อไป เพื่อประเทศไทยของเราจะได้พัฒนาและเจริญยิ่งขึ้น ถ้าทำได้แบบนี้จึงจะถือว่าเป็นครูในศตวรรษที่ ๒๑ อย่างแท้จริง
ท้ายนี้ขอน้อมนำพระบรมราโชวาทบางส่วนบางตอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาให้แด่ครูผู้เสียสละทุกท่านครับ
“… ผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ใช่ว่าจะมีแต่ความรู้ในทางวิชาการและในทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่ จะต้องรู้จักอบรมเด็กทั้งในด้านศีลธรรม จรรยาและวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ด้วย…”
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยวิชาการศึกษา วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๓
ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ของครูให้ดีที่สุด ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
Comments